Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

HIV กับ เอดส์ ความเหมือนที่แตกต่าง

1 ธ.ค. 2566


   หากพูดถึงคำว่า “เลือดบวก” หลายคนอาจจะคิดถึงโรคเอดส์ ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ร้ายแรง แต่แท้ที่จริงแล้วเลือดบวกเป็นอาการเริ่มต้นของ HIV ที่จะสามารถกลายไปเป็นโรคเอดส์ได้ต่อไป เมื่อพูดมาถึงจุดนี้หลายคนคงอาจจะสงสัยว่าโรคเอดส์กับ HIV นั้นแตกต่างกันอย่างไร และสาเหตุมาจากอะไร มาไขข้อสงสัยว่าทั้งสองโรคนี้มีจุดเหมือนและจุดต่างกันอย่างไรบ้าง
 
ความแตกต่างของโรคเอดส์ กับ HIV
   HIVคือเชื้อไวรัสที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัด และจะไม่แสดงอาการใดๆ ออกมาอีกเลย ผู้ป่วยโรคนี้จึงไม่รู้ตัวว่าได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าไป เมื่อผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เป็นโรคเอดส์ ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนไม่สามารถต้านทานโรคต่างๆ ได้ในที่สุด ดังนั้นโรคเอดส์ และ HIV ไม่ใช่โรคเดียวกันเพียงแต่มีความเกี่ยวเนื่องกันทางอาการเท่านั้น
 
กว่าจะกลายเป็นโรคเอดส์
   เชื้อ HIV นั้นสามารถติดต่อกันได้ทางเพศสัมพันธ์ผ่านสารหลั่ง นอกจากนี้ยังสามารถส่งต่อผ่านเข็มฉีดยา และจากมารดาสู่ลูกในครรภ์ได้ด้วย โดยการติดเชื้อจะมีด้วยกัน 3 ระยะ
  1. อาการของผู้ติดเชื้อระยะเฉียบพลัน (รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 - 4 สัปดาห์) จะมีอาการคล้ายเป็นไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัวร่างกายมีอุณหภูมิสูง มีผื่นขึ้นบนร่างกาย มีอาการท้องเสียติดต่อกันหลายวัน มี อาการต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณใต้คอ รักแร้หรือขาหนีบ
  2. อาการของผู้ติดเชื้อระยะแฝง ซึ่งระยะนี้เชื้อยังคงอยู่ในร่างกายแต่มักไม่แสดงอาการ อย่างไรก็ตามในระยะนี้ยังสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ด้วย(รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 2 - 10 ปีหรือมากกว่า)
  3. อาการของผู้ติดเชื้อระยะเอดส์ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะสูญเสียภูมิคุ้มกันโรคและจะเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ มีอาการเบื้องต้นอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้ามืดบ่อยครั้ง น้ำหนักลด มีผื่นขึ้นบนร่างกาย แผลหายช้า และอื่นๆ หากร่างการอ่อนแอจะเกิดโรคแทรกซ้อน และอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
ผู้ที่มีเชื้อ HIV ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
   หลายคนอาจยอมรับที่จะอยู่ร่วมกับผู้มีเชื้อ HIV ได้ ในขณะที่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังกลัวที่จะอยู่หรือเข้าใกล้ผู้ที่มีเชื้อชนิดนี้เช่นกัน โดยในความเป็นจริงแล้วผู้ที่มีเชื้อดังกล่าวสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องคอยดูแลตนเองตามคำสั่งของแพทย์ด้วยการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสด้วยการทานยา Antiretroviral (ARV) เป็นประจำและคอยตรวจเช็กอาการด้วยการเจาะเลือด 

ถ้าเป็น HIV ต้องรักษานานแค่ไหนถึงจะกลับมาเป็นปกติได้
   ในปัจจุบันแนวทางการรักษา HIV จะเป็นการรักษาด้วยการทานยาต้านไวรัส หากผู้ป่วยพบ เชื้อเร็ว-รักษาเร็ว มีวินัยการทานยาที่ดี และติดตามนัดพบแพทย์สม่ำเสมอ โดยทั่วไปจะสามารถกลับมามีร่างกายที่ แข็งแรงปกติได้ภายใน 6 เดือนหลังจากเริ่มต้นรักษา
   ทั้งนี้ในปัจจุบัน ยาต้านไวรัสยังไม่สามารถกำจัดเชื้อ HIV ให้ไปหมดไปจากร่างกายได้ ผู้มีเชื้อ HIV ยังคงมีความจำเป็นต้องทานยาต้านไวรัสไปตลอดเพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
   ไม่ใช่แค่เพียงผู้ที่มีเชื้อเท่านั้นที่ควรเจาะเลือด ผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงหรืออยากหาเชื้อไวรัสแต่เนิ่นๆ ก็สามารถเข้ารับการตรวจเลือดได้เช่นกัน นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มีความกังวลว่าจะติดเชื้อ HIV ก็สามารถรับยาต้านไวรัสภายใน 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมงหลังจากมีความเสี่ยง

การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ
   ยาต้านไวรัส PEP ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในกรณีฉุกเฉินที่ต้องรับประทานให้เร็วที่สุดหลังสัมผัสความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี โดยต้องเริ่มรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีความเสี่ยง และรับประทานต่อเนื่องติดต่อกันนาน 28 วัน และควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
 
ใครบ้างที่ควรได้รับยาเป็ป (PEP)
  1. ผู้มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่อาจมีเชื้อเอชไอวีและไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ถุงยางอนามัยหลุดหรือฉีกขาด (ถุงแตก)
  2. ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  3. ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  4. ผู้ที่มีความเสี่ยงจากการทำงาน เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เป็นต้น

สารคัดหลั่ง (
Body fluid) ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ
   สารที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ ได้แก่ น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งในช่องคลอด น้ำไขสันหลัง น้ำในข้อ น้ำในช่องปอด น้ำในช่องหัวใจ น้ำคร่ำ และหนอง ส่วนน้ำมูก น้ำลาย น้ำตา เหงื่อ เสมหะ อาเจียน และปัสสาวะ หากไม่มีการปนเปื้อนเลือด ถือว่ามีจำนวนเชื้อไม่เพียงพอต่อการถ่ายทอดสู่ผู้อื่น

ประสิทธิผลในป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
  หากผู้รับบริการคาดว่าเพิ่งสัมผัสเชื้อเอชไอวีมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงควรรีบพบแพทย์เพื่อปรึกษา และรับยาเป็ป (PEP) เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะยิ่งรับยาเร็ว ยาจะยิ่งมีประสิทธิภาพ โดยตัวยานั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้มากกว่า 80% 

จะรับประทานยาเป็ป (PEP) ต้องเตรียมอะไรบ้าง
   ก่อนเริ่มรับประทานยาเป็ป (PEP) แพทย์จะทำการซักประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับยาเป็ป (PEP) หรือไม่ โดยแพทย์จะสั่งตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี ตรวจไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไตก่อนรับยาเป็ป (PEP) (หากติดเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อนแล้วจะไม่สามารถใช้ยาเป็ปได้) หลังรับประทานยาครบ 28 วัน ควรตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีซ้ำ 1 เดือนและ 3 เดือน ในช่วงนี้ควรงดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.ชัชวาล อึ้งธรรมคุณ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.